อุปกรณ์ตกปลาพื้นฐานและการเลือกใช้งานที่นักตกปลามือใหม่ทุกคนควรรู้
1. คันเบ็ด (Fishing Rod)
ประเภทของคันเบ็ดถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักตกปลาต้องพิจารณา โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ได้แก่
- คันเบ็ดเบทคาสติ้ง (Baitcasting Rod)
หรือที่เรียกว่าคันเบท มีลักษณะของวงไกด์ที่เล็กและออกแบบมาเพื่อให้สามารถเหวี่ยงสายหรือตีสายในแนวราบ ซึ่งช่วยให้การปล่อยสายทำได้อย่างคล่องตัว - คันเบ็ดสปินนิ่ง (Spinning Rod)
หรือคันสปินมีลักษณะการปล่อยสายที่เหวี่ยงในแนวดิ่ง โดยใช้แรงเหวี่ยงจากหัวไหล่และแขนของนักตกปลา
โดยทั่วไปแล้ว คันเบ็ดทั้งสองชนิดสามารถใช้ตกปลาได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ขึ้นอยู่กับเทคนิค ความชอบ และประสบการณ์ของนักตกปลา สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้น แนะนำให้เลือกใช้ ‘คันเบ็ดสปินนิ่ง’ เนื่องจากมีความง่ายในการใช้งาน กลไกไม่ซับซ้อน และควบคุมสายได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถเหวี่ยงสายตีสู้ลมได้ดี จึงเหมาะสำหรับการตกปลาน้ำจืดและตกปลาทะเลชายฝั่ง รวมถึงการตกปลาหน้าดินด้วย ควรเลือกรุ่นที่มีความยาวมากกว่าปกติและมีความแข็งแรงพอที่จะควบคุมปลาและเหยื่อในทิศทางที่ต้องการได้ เพราะการตกปลาหน้าดินมักมีสัตว์น้ำหลายชนิดและขนาดที่แตกต่างกัน
ในส่วนของขนาดความยาวที่แนะนำสำหรับมือใหม่ จะขึ้นอยู่กับแหล่งตกปลาเป็นหลัก สำหรับการตกปลาหน้าดินหรือตกปลาชายฝั่ง ควรเลือกคันเบ็ดที่มีความยาวไม่ต่ำกว่า 7 ฟุต เพื่อช่วยให้ส่งเหยื่อไปได้ไกลมากขึ้น
2. รอกตกปลา (Fishing Reel)
การเลือกซื้อรอกตกปลาควรพิจารณาให้เหมาะสมกับประเภทของคันเบ็ดและการใช้งาน โดยรอกตกปลาที่ได้รับความนิยมแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ
- รอกสปินนิ่ง (Spinning Reel)
รอกประเภทนี้มีการใช้งานที่ง่ายและสามารถปรับมือหมุนได้ทั้งซ้ายและขวา มีกลไกการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ทำให้สามารถขึ้นรอกได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ใช้กำลังจากหัวไหล่และแขน เหมาะสำหรับการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมที่ต้องมีการเหวี่ยงหรือตีสายหลายครั้ง รอกสปินนิ่งมักเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักตกปลามือใหม่ เนื่องจากช่วยให้การเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการตกปลาเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถใช้ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม - รอกเบทแคสติ้ง (Baitcasting Reel)
รอกประเภทนี้มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนกว่ารอกสปินนิ่ง และไม่สามารถเปลี่ยนหรือสลับข้างมือหมุนได้ แต่ข้อดีคือสามารถควบคุมทิศทางได้ดีและมีความแม่นยำสูงในการตีเหยื่อ รอกเบทแคสติ้งสะดวกและรวดเร็วในการปล่อยสายและส่งเหยื่อ แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานในสภาพที่มีลมแรง
ในการเลือกใช้งาน รอกสปินนิ่งจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับนักตกปลามือใหม่ที่ต้องการเริ่มต้น เนื่องจากมีความสะดวกและสามารถช่วยให้ฝึกทักษะได้ง่ายมากขึ้น
3. สายเอ็น (Fishing Line)
- สายเอ็น ผลิตจากวัสดุไนลอน ซึ่งเป็นพลาสติกสังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความนิ่มและง่ายต่อการมัดปม ทำให้ลดความระแวงของปลา เหมาะสำหรับการตกปลาทั่วไป ปลาที่กินพืช และการตกสปิ๋วหรือการจ้องทุ่น อย่างไรก็ตาม สายเอ็นมีความยืดหยุ่นสูงจึงมีโอกาสเปื่อยและขาดง่ายกว่าสาย PE จึงไม่แนะนำให้ใช้ในสถานที่ที่มีอุปสรรคใต้น้ำหรือผิวน้ำมาก
- สาย PE หรือที่เรียกว่าสายถัก ผลิตจากวัสดุโพลีเอทิลีน มีลักษณะเป็นสายถัก เช่น 4 สายถัก หรือ 8 สายถัก มีความแข็งแรงสูงและสามารถรองรับแรงกระชากได้ดี จึงเหมาะสำหรับการตกปลากินเนื้อ ตกปลาน้ำลึก หรือปลาที่มีการกัดเหยื่อที่ดุดัน
4. เหยื่อตกปลา (Fishing Bait)
- เหยื่อสด ใช้ชิ้นส่วนของสัตว์ เช่น เครื่องใน ตับ หัวใจ หรือเนื้อสัตว์ รวมถึงลูกปลาและลูกปลาหมึกที่ตายแล้ว เหยื่อสดเหมาะสำหรับการล่อปลาที่กินเนื้อ เนื่องจากมีกลิ่นและรสชาติที่ดึงดูดปลาได้ดี
- เหยื่อเป็น ใช้ลูกปลา ลูกปลาหมึก หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้เคลื่อนไหวอิสระ ดึงดูดปลาล่าเหยื่อหรือปลาที่มีการระแวงสูง การใช้เหยื่อเป็นจะต้องมีเทคนิคการเกี่ยวเบ็ดที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผล
- เหยื่อปลอม แบ่งออกเป็นเหยื่อผิวน้ำ กลางน้ำ และน้ำลึก รวมถึงเหยื่อจิ๊ก เหยื่อปลอมมีน้ำหนักดีและแม่นยำ การเลือกเหยื่อปลอมจะขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของหมายปลาที่ต้องการตก การใช้งานอาจจะซับซ้อนกว่า เนื่องจากต้องทำให้แอคชันของเหยื่อเหมือนกับสิ่งมีชีวิตจริง
5. เครื่องแต่งกายสำหรับการตกปลาโดยเฉพาะ
- แว่นตาตกปลา แว่นตาที่ออกแบบมาสำหรับตกปลาจะช่วยป้องกันอันตรายจากน้ำกระเซ็นและอุปกรณ์สำหรับตกปลา นอกจากนี้ยังช่วยกรองแสง UV ซึ่งดีต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาว
- เสื้อตกปลา เสื้อที่ทำมาเฉพาะจะช่วยป้องกันแสง UV และลดความร้อนจากแสงแดด ช่วยให้คุณสามารถตกปลาได้นานขึ้นโดยไม่รู้สึกร้อนหรือไม่สบาย
- หมวกตกปลา หมวกที่ออกแบบมาเพื่อการตกปลาจะช่วยกันแสง UV และลม ควรเลือกวัสดุที่แห้งไวและมีดีไซน์ที่เพิ่มความชัดเจนในการมองเห็น
6. อุปกรณ์เสริมที่จำเป็น
- ตัวเบ็ด: มีหลายเบอร์และขนาด แนะนำให้เลือกขนาดที่เหมาะสมกับตัวปลาที่ต้องการตก โดยต้องไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ตัวเบ็ดควรมีความคมและแข็งแรง เพื่อรองรับน้ำหนักตัวปลาได้
- ตะกร้อ: เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกปลาหน้าดิน โดยใช้วิธีปั้นรำและขนมปังประกอบกับตะกร้อสำหรับตกปลาชนิดกินพืช
- ตะกั่ว: ใช้ในตกปลาบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เพื่อให้เหยื่อสามารถไหลตามกระแสน้ำได้
- ลูกหมุน: ช่วยป้องกันสายเบ็ดไม่ให้พันกันขณะตีเหยื่อ การเลือกใช้งานควรพิจารณาประเภทการตกปลา และควรเลือกลูกหมุนที่มีความแข็งแรง ขั้วต่อที่ทนทานและหมุนได้อย่างลื่นไหล
- กิ๊บ: อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนอุปกรณ์ปลายสายหรือเปลี่ยนเหยื่ออย่างรวดเร็ว ควรเลือกกิ๊บที่มีความแข็งแรงและเปิด-ปิดล็อกได้ง่าย เพื่อความคล่องตัว
- ทุ่น: ใช้สำหรับตกปลาด้วยเหยื่อปลอมหรือเหยื่อสด เพื่อสังเกตพฤติกรรมการกินเหยื่อของปลา สวิงช้อนปลาและกระชังขังปลา: สวิงใช้สำหรับช้อนปลาขึ้นจากน้ำ ในขณะที่กระชังใช้ขังปลาที่ได้จากการตกปลา สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ตกปลาทั่วไป
บทสรุป
แม้ว่าการตกปลาจะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนออกตกปลา เช่น ฤดูกาลที่เลือกไปเป็นช่วงน้ำหลากหรือมรสุมหรือไม่ รวมถึงสถานที่ที่ไปต้องมีการอนุญาตให้ตกปลา นอกจากนี้ควรศึกษาเรื่องข้อห้ามต่าง ๆ เช่น การหลีกเลี่ยงการตกปลาในช่วงฤดูวางไข่ หรือการใช้อุปกรณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมตกปลาได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ